ราชาภิเษก : โดม สุขวงศ์ นักอนุรักษ์ฟิล์มผู้สานต่ออดีตที่ขาดช่วงผ่านภาพเคลื่อนไหวโบราณ

  • เรื่อง-ภาพ โดย ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล & แพรวรดา บุญชู
  • ผู้สื่อข่าววิดีโอ บีบีซีไทย
ภาพเคลื่อนไหวคมชัดขึ้นมาก จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นภาพวิดีโอจากฟิล์มที่ถ่ายสมัยรัชกาลที่ 7

ที่มาของภาพ, Thai Film Archive

คำบรรยายภาพ, ภาพเคลื่อนไหวคมชัดขึ้นมาก จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นภาพวิดีโอจากฟิล์มที่ถ่ายสมัยรัชกาลที่ 7

"Unseen ภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7" เกิดจากความอุตสาหะของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทุ่มเทแรงกายและเวลา "ฟื้นคืนชีวิต" ให้ฟิล์มเก่าแก่ ด้วยเป้าหมายเผยแพร่ภาพประวัติศาสตร์ ที่คนไทยหลงลืม หรือไม่เคยพบเห็น

ชายวัย 67 ปี ในเสื้อแขนสั้นสีขาว ผมขาวแกมเทาเกือบเต็มศีรษะที่กลมกลืนกับหนวดเครา ค่อยเดินอย่างช้า ๆ ไปตามขั้นบันไดของโรงภาพยนตร์ขนาดกลาง ภายในหอภาพยนตร์ บนถนนพุทธมณฑล จ. นครปฐม เขาทิ้งตัวนั่งลงบนเก้าอี้ผู้กำกับสีแดง ที่จัดไว้อยู่หน้าจอภาพยนตร์ แล้วพูดด้วยเสียงแผ่วเบา แต่ชัดถ้อยชัดคำว่า

"ภาพยนตร์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามันครองโลก ใครเขียนประวัติศาสตร์แล้วไม่พูดถึงข้อมูลในภาพยนตร์ ถือว่าไม่สมบูรณ์"

ชายผิวคล้ำคนนี้ คือ 'โดม สุขวงศ์' นักอนุรักษ์ภาพยนตร์เกียรติคุณ และผู้ก่อตั้ง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) แต่งานของเขา ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งบันเทิงสมัยใหม่ ที่หาชมและสืบค้นได้ง่ายดายผ่านโลกอินเทอร์เน็ต แต่เป็นฟิล์มเก่าอายุเกือบร้อยปี ด้วยหน้าที่อันภาคภูมิใจในการ "อนุรักษ์" และ "คืนชีวิต" ให้ประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวได้บนแผ่นฟิล์ม

คำบรรยายวิดีโอ, โดม สุขวงศ์ นักอนุรักษ์ฟิล์มผู้สานต่ออดีตที่ขาดช่วงผ่านภาพเคลื่อนไหวโบราณ

โดมเกิดที่ภูเก็ต แล้วมาเติบใหญ่ในกรุงเทพฯ เขาสนใจศาสตร์ภาพยนตร์ตั้งแต่เยาว์วัย จึงสอบคัดเลือกเข้าศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลือกเป็น "นักวิชาการภาพยนตร์" ไม่นานหลังเรียนจบ เขาขยายบทบาทมาหาทางก่อตั้งหอภาพยนตร์ และคืนชีวิตให้แผ่นฟิล์มสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย

การค้นพบที่ "ป่าช้ากรมรถไฟ"

ช่วงปี พ.ศ. 2524 โดม กำลังค้นหาภาพยนตร์ซึ่งถือเป็นเรื่องแรกที่ถ่ายทำในสยามประเทศโดยทีมงานจากฮอลลีวูด ราวปี 2466 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ชื่อเรื่องว่า "นางสาวสุวรรณ" โดยใช้นักแสดงชาวสยามทั้งหมด

"ได้ข้อมูลว่า กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมรถไฟหลวง เข้าร่วมในการถ่ายทำด้วย และก่อนฝรั่งกลับไป ได้มอบนางสาวสุวรรณสำเนาหนึ่งให้กรมรถไฟ" เขาย้อนที่มาให้ บีบีซีไทยฟัง

โดม ในวัย 30 ปี เดินทางไปย่านหัวลำโพง ถามหาฟิล์มหนังเรื่องนี้ แต่ผ่านไป 3 วันยังไร้วี่แวว เบาะแสสุดท้ายคือ โรงพิมพ์การรถไฟที่สภาพอาคารเก่าทรุดโทรม จนคนสมัยนั้นเรียกว่า "ป่าช้ากรมรถไฟ"

โรงพิมพ์ กรมรถไฟหลวงในอดีต

ที่มาของภาพ, Thai Film Archive

คำบรรยายภาพ, โรงพิมพ์ กรมรถไฟหลวงในอดีต

เขาเล่าถึงวินาทีเสมือนขุดพบทอง

"ตอนจะกลับอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่ามีฟิล์มอยู่ ไม่รู้ฟิล์มอะไรอยู่ในตู้ มีกลิ่นเหม็นรบกวน กำลังจะทำเรื่องขอทำลาย"

นักล่าฟิล์มรุ่นแรกจึงลองไปดู เมื่อเปิดตู้ออกมา พบว่าเป็นฟิล์มประมาณ 500 ม้วนสมัยรัชกาลที่ 7 ที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวบันทึกไว้เกี่ยวกับพระราชพิธี และเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ

"ฟิล์มสภาพเหมือนศพเน่าเฟะ มีแก๊สออกมาด้วย" โดม อธิบายสภาพฟิล์มที่พบ แต่ในนั้น "อาจมีนางสาวสุวรรณอยู่ด้วยก็ได้"

"เหมือนถูกเก็บลืม"

ที่มาของภาพ, Thai Film Archive

คำบรรยายภาพ, "เหมือนถูกเก็บลืม"

จากนั้นเขาจึงอาสาทำบัญชีของฟิล์ม และติดต่อหอจดหมายเหตุฯ ให้เข้ามาเก็บรักษา เพราะมีเอกสารสำคัญ รวมถึง ภาพบันทึกการเฉลิมฉลองสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ครบ 150 ปี เมื่อปี 2475 เพราะในปี 2525 กทม. จะฉลองครบ 200 ปี จึงคิดว่าน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้

ทว่า จนถึงวันนี้ ภาพยนตร์ที่ตั้งใจหา คือ นางสาวสุวรรณ ไม่เคยถูกค้นพบ แม้จะเคยฉายในสยาม นาน 3 วัน แต่กลับได้มาซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์อื่นมากมายที่มีค่า

เสือกระดาษ สู่ องค์การมหาชน

นอกจากนี้ การค้นพบดังกล่าว ช่วยจุดกระแสการอนุรักษ์หนังเก่าขึ้น ทำให้ต่อมาในปี 2527 โดมผลักดันก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติขึ้น ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ทั้งนี้ ระยะเริ่มต้น กลับเป็นเพียง สิ่งที่เขาเปรียบว่า "เสือกระดาษ" หรือดูมีอำนาจมาก แต่ที่จริงแล้วไม่มี

ข่าวการค้นพบของโดมใน "ศิลปวัฒนธรรม" วันที่ 12 ต.ค. 2524

ที่มาของภาพ, Thai Film Archive

คำบรรยายภาพ, ข่าวการค้นพบของโดมใน "ศิลปวัฒนธรรม" วันที่ 12 ต.ค. 2524

"แผนกเล็ก ๆ แต่ชื่อใหญ่ หอภาพยนตร์แห่งชาติ" เขาพูดด้วยน้ำเสียงประชดประชันเล็ก ๆ "เรามาที่โหล่เสมอ เพราะศิลปากรเขาใหญ่ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ โขน ละคร มีความสำคัญกว่า เรื่องหนังเนี่ย เขามองเป็นแค่สิ่งบันเทิง...ถ้าเป็นต้นไม้ก็เหมือนอยู่ในกระถาง มันไม่โต มันแคระแกร็น"

ช่วงปี 2542 ประเทศไทยเกิดกระแสปฏิรูปการเมือง การศึกษา ราชการ รวมถึงเกิดลักษณะหน่วยงานรัฐแบบใหม่ นอกเหนือจาก ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ คือ 'องค์การมหาชน' ด้วยคุณสมบัติที่คล่องตัวกว่าด้านการเสนอของบประมาณและบุคลากร โดม จึงลุกขึ้นสู้เพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนสถานะหอภาพยนตร์ เป็นองค์การมหาชน และทำสำเร็จในปี 2552

โดม สุขวงศ์ กับการทำงานในแผนก "เสือกระดาษ"

ที่มาของภาพ, Thai Film Archive

คำบรรยายภาพ, โดม สุขวงศ์ กับการทำงานในแผนก "เสือกระดาษ"

องค์การมหาชน ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานภาครัฐประเภทที่ 3 เริ่มมีขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน ปี 2542 มีสถานะเป็นทั้งหน่วยงานรัฐและนิติบุคคล มีความคล่องตัวเหมือนภาคเอกชน แต่ยังอยู่ใต้ระบบการตรวจสอบของรัฐ และต้องให้บริการตามที่รัฐมอบหมายแบบ ไม่แสวงผลกำไร

"ยากกว่าก่อตั้งหอภาพยนตร์เสียอีก ใช้เวลาถึง 8 ปี" แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า เพราะทำให้เดินหน้าการทำงานและโครงการได้อย่างจริงจัง ประกอบกับเป็นช่วงที่ระบบดิจิทัลเริ่มเข้ามาในไทย ทำให้การซ่อมแซม-จัดเก็บฟิล์มทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ฟิล์มอันตราย

ภารกิจแรกของหอภาพยนตร์ คือ ขอรับฟิล์มเก่า 500 ม้วนที่เจอในปี 2524 จากห้องเย็นในวิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ ที่กรมศิลปากรฝากเก็บไว้ และไม่เคยได้ดำเนินการอะไร เพราะเป็นฟิล์มชนิด "อันตราย"

ธีทัต วิริยกิจจา นักอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง อธิบายว่า นี่คือฟิล์มชนิดไนเตรต

ธีทัต วิริยกิจจา นักอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ ภายในห้องเย็นพิเศษที่สร้างไว้บนดาดฟ้าอาคาร

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ธีทัต วิริยกิจจา นักอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ ภายในห้องเย็นพิเศษที่สร้างไว้บนดาดฟ้าอาคาร

"เป็นเทคโนโลยีฟิล์มตัวแรกของโลก ตอนนี้ไม่ผลิตแล้ว เพราะอันตราย ลุกติดไฟง่าย" เขายังเล่าว่า หอภาพยนตร์รักษาฟิล์มไนเตรต ที่ตอนนี้มีเหลืออยู่ราว 200 ม้วน แยกห้องไว้ต่างหากที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ในความชื้นที่เหมาะสม และต้องนำมาตรวจสภาพทุกทุก 1 ปี

ส่วนฟิล์มขนาด 8, 16 และ 35 มิลลิเมตร เก็บอยู่ในห้องเย็นขนาดใหญ่ คงอุณหภูมิไว้ที่ 4 องศาเซลเซียส

"ก่อนเอาฟิล์มเข้าห้องเย็น เราต้องลงทะเบียนฟิล์มก่อน" ดนัยภัทร รื่นรมย์ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง อธิบาย

ดนัยภัทร รื่นรมย์ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์ ในห้องเก็บฟิล์มหลัก

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ดนัยภัทร รื่นรมย์ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์ ในห้องเก็บฟิล์มหลัก

"จากนั้นเราจะเอาเข้าห้องพัก อุณหภูมิ 16 องศาฯ 3 วัน เราเอาเข้าห้องเย็นเลยไม่ได้เพราะฟิล์มจะชื้นจากสภาพอากาศที่มันเหวี่ยงเร็วเกินไป"

ด้วยการเก็บรักษาเช่นนี้ ทำให้สามารถอนุรักษ์ฟิล์มได้ยาวนาน แต่หอภาพยนตร์จะทำสำเนาฟิล์มทุกม้วนเอาไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบัน การทำสำเนาจะอยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล

เนรมิตภาพยนตร์พระราชพิธีฯ

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 62 หอภาพยนตร์ได้เปิดตัวภาพยนตร์พระราชพีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 7 ฉบับที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ความยาวกว่า 30 นาที จัดทำจากฟิล์มไนเตรต 11 ม้วน ที่โดม สุขวงศ์ ค้นพบใน "กรุกรมรถไฟหลวง"

โดมยอมรับว่า ภาพยนตร์ฉบับนี้มาจาก "เศษฟิล์ม" หรือฟิล์มที่เหลือจากการตัดต่อภาพยนตร์พระราชพิธีฯ ฉบับเต็ม ที่เชื่อว่ามี 5 ม้วน ความยาวกว่า 1 ชั่วโมง ที่จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่เคยมีการค้นพบ

คำบรรยายวิดีโอ, เปิดตัวภาพยนตร์พระบรมราชาภิเษก ร.7

"แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพราะนี่เป็นมรดกที่คนรุ่นโบราณอุตสาหะสร้างไว้ และเหลือให้พวกเรา"

"ตราบใดที่เห็นภาพ ถือว่ายังไม่ตาย ยังช่วยได้ เหมือนคน ถ้ายังมีคลื่นสมอง ถึงแม้พูดไม่ได้ นอนเป็นผัก ถือว่ายังไม่ตาย" โดม กล่าวถึงความรู้สึกที่เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์มีร่วมกัน ปฏิบัติต่อฟิล์ม เหมือน "แพทย์" กับ "คนไข้"

ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อรพร ลักษณากร นักอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง เนรมิตให้ไฟล์ดิจิทัลที่สแกนมาจากเศษฟิล์มต้นฉบับมีความคมชัดและสวยงาม แต่ผลงานยังไม่พอใจนัก เพราะเรื่องราวไม่ปะติดปะต่อกัน

ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ทีมงานของอรพร ซ่อมแซม-เกลี่ยสี ภาพยนตร์เก่าแก่ได้ดีมากขึ้น

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ทีมงานของอรพร ซ่อมแซม-เกลี่ยสี ภาพยนตร์เก่าแก่ได้ดีมากขึ้น

"เราไม่เก่งเรื่องข้อมูล แต่มีเจ้าหน้าที่แผนกสารสนเทศคอยช่วยเปิดหนังสือดูว่าลำดับเหตุการณ์ไหนมาก่อนหรือหลัง" อรพรกล่าว โดยหลักฐานที่ใช้อ้างอิงเรื่องราว ได้แก่ จดหมายเหตุและสมุดภาพที่บันทึกพระราชกิจรายวันของรัชกาลที่ 7 รวมถึงวิดีโอพระราชพิธีฉบับสั้น 15 นาที และการสัมภาษณ์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ด้วย

"คุณทักษิณ" ในฟิล์มถ่ายตามบ้าน

อรวรรณ ชวศิลป์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หอภาพยนตร์ พาบีบีซีไทยเปิดบ้าน และชมกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน และเล่าถึง แต่สิ่งที่ประทับใจเธอที่สุด นั่นคือ "ฟิล์มขนาด 8 มม. ที่ถ่ายตามบ้านมันสำคัญด้านจิตใจ" ที่มีคนนำมามอบให้เก็บรักษา

"เคยมีกรณีคุณกันตธีร์ ศุภมงคล" เธอ เล่าถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ "พ่อของเขาแก่มากแล้ว แต่เป็นคนชอบถ่ายภาพลูก ๆ เก็บไว้ เขาก็เอาฟิล์มเหล่านั้นมาให้เรา"

ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล เป็นบุตรของนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล

วันหนึ่ง ดร. กันตธีร์พาคุณพ่อ กนต์ธีร์ ศุภมงคล นั่งรถเข็นมาที่โรงหนังของหอภาพยนตร์ ก่อนเปิดฉายภาพความหลังเก่า ๆ ของครอบครัว ทำให้คุณพ่อกนต์ธีร์ "ผู้มีมาดและดุ" เกิด "อารมณ์อ่อนไหว"

ฟิล์มเก่ามากมาย ที่ประชาชนทั่วไปและสถานีโทรทัศน์ส่งมอบให้หอภาพยนตร์

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ฟิล์มเก่ามากมาย ที่ประชาชนทั่วไปและสถานีโทรทัศน์ส่งมอบให้หอภาพยนตร์

"นี่แหละมันคือคุณค่าทางจิตใจ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าสำหรับเด็กในอนาคต" อรวรรณ ยังเล่าติดตลกว่า หอภาพยนตร์เคยเจอภาพทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฟิล์มที่มีประชาชนนำมามอบให้ด้วย

ค้นพบ - ซ่อม - รักษา

เจ้าหน้าที่แผนกซ่อม สงวน และรักษาฟิล์มของหอภาพยนตร์มี 12 คน ทุกคนมีทักษะของการอนุรักษ์ฟิล์มครบถ้วน ทำงานแทนกันได้ และคนหนึ่งจะรับผิดชอบฟิล์มม้วนหนึ่ง ตั้งแต่ชมภาพยนตร์ ถึง ซ่อมฟิล์มเสร็จ

"เพราะไม่งั้นจะไม่รู้ว่าตรงไหนเราซ่อมไปแล้ว ตรงไหนเราเจอปัญหา" อรวรรณ ชี้

ครึ่ก ครึ่ก ครึ่ก เสียงหมุนฟิล์ม ดังดัง หยุดหยุด ภายในแผนกซ่อม เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพฟิล์มทีละเฟรมอย่างมีสมาธิ ฟิล์มม้วนที่ ประดิษฐ์ ทาระเวทย์ ใช้เวลานานกว่า 2 เดือนก็ยังไม่เสร็จดีนี้ เป็นของภาพยนตร์แนวบู๊ล้างผลาญเรื่อง "1 ต่อ 7"

ใช้มือหมุน ค่อย ๆ ตรวจฟิล์มเป็นเฟรม

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ใช้มือหมุน ค่อย ๆ ตรวจฟิล์มเป็นเฟรม
ประดิษฐ์ และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ แต่งกายเหมือนแพทย์ "หมอซ่อมฟิล์ม"

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ประดิษฐ์ และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ แต่งกายเหมือนแพทย์ "หมอซ่อมฟิล์ม"

"ถ้ามันฉีกขาด เราก็ใช้เทปซ่อมฟิล์มมาแปะให้คงสภาพ" ประดิษฐ์ อธิบาย

"ถ้าไม่ซ่อมแล้วนำไปใช้งานมันจะฉีกขาดเรื่อย ๆ ส่วนรูหนามเตยฉีกขาดก็ต้องเอาฟิล์มสีดำมาซ่อมให้คงสภาพเหมือนเดิม และเราต้องคอยเช็คว่าฟิล์มมีความหดหรือเปล่าด้วยเครื่องวัดหด ถ้าหดมากจะไม่สามารถนำไปสแกนได้ ส่วนหนึ่งในวิธีแก้คือเอาไปอบ"

ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา

ในฐานะนักซ่อมฟิล์มคนแรก ๆ ของประเทศ โดม ยอมรับว่า สถาบันศึกษาไทยไม่มีการสอนทักษะเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่หอภาพยนตร์ทำได้ คือ รับความช่วยเหลือจากสมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกสอน

ทักษะที่ยังไม่มีสอนอย่างเป็นทางการในไทย

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ทักษะที่ยังไม่มีสอนอย่างเป็นทางการในไทย

"แล้วเราก็สอนกันต่อ ๆ มา จากรุ่นสู่รุ่น" แต่ "เมื่อเป็นองค์การมหาชน เราก็พอมีทุนส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมต่างประเทศ คล้าย ๆ ฝึกงานในหอภาพยนตร์ประเทศอื่น"

เจ้าหน้าที่ไม่กี่สิบคน ทักษะที่ฝึกแบบถ่ายทอดกันเอง แต่หอภาพยนตร์มุ่งมั่นต่อพันธกิจเพื่อคืนชีวิตให้ฟิล์มเก่า ไม่ใช่เพราะเป็น "สิ่งบันเทิง" แต่ในฐานะ "สื่อสร้างปัญญา"

"เรามีคำขวัญว่า ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา บทบาทของมันไม่ว่าคนสร้างหรือคนใช้ ไม่มีประโยชน์อย่างอื่น ถ้าไม่ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น"

"ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา" โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, "ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา" โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์

"เพราะสื่อมอมเมาเราได้ หรือทำให้หลง ฉะนั้นต้องรู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์" โดม ฝากทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี