ไม่พบผลการค้นหา
Freedom House ลดอันดับประเทศไทยจากกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพอยู่บ้าง เป็นกลุ่มประเทศไร้เสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพทางการเมือง ที่ได้คะแนนเกือบต่ำสุด หลังประเทศตกอยู่ใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร

Freedom House ลดอันดับประเทศไทยจากกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพอยู่บ้าง เป็นกลุ่มประเทศไร้เสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพทางการเมือง ที่ได้คะแนนเกือบต่ำสุด หลังประเทศตกอยู่ใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร
    
Freedom House องค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ประเมินระดับสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศต่างๆทั่วโลก เปิดเผยรายงานระดับเสรีภาพประจำปี 2015 หรือ Freedom of the World 2015 โดยแสดงความเป็นห่วงว่าเสรีภาพทั่วโลกตกต่ำลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 แล้ว โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก 2 ประการ คือการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายที่รุนแรงขึ้น และการที่รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกใช้อำนาจการปกครองอย่างเด็ดขาดและกดขี่มากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ในปีนี้ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ไร้เสรีภาพ หรือ Not Free ซึ่งเป็นกลุ่มที่แย่ที่สุดในบรรดา 3 กลุ่มจากการจัดอันดับของ Freedom House คือ เสรี หรือ Free เสรีเป็นบางส่วน หรือ Partly Free  และ ไร้เสรีภาพ หรือ Not Free ทั้งที่ปีที่แล้ว ไทยยังถูกจัดอยู่ในอันดับ Partly Free 

Freedom House ยังให้คะแนนเสรีภาพของไทยในด้านต่างๆ โดยคะแนนเรียงลำดับจาก 1 คือดีที่สุด ไปจนถึง 7 คือแย่ที่สุด ไทยได้คะแนนเสรีภาพโดยทั่วไป 5.5 และคะแนนสิทธิเสรีภาพพลเมือง 5 ส่วนเสรีภาพทางการเมือง ได้คะแนนตกต่ำที่สุด คือ 6 จาก 7 คะแนน 

นอกจากนี้ Freedom House ยังเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆของไทย โดยแสดงความเป็นห่วงถึงเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากทหารมีอำนาจในการควบคุมและสามารถถอนใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์แม้จะมีเสรีภาพมากกว่า แต่ก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด และส่วนใหญ่มีอคติทางการเมืองสูง โดยมีการสั่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในสื่อบางช่อง และมีการสั่งถอดรายการหรือผู้ดำเนินรายการที่วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารด้วย

ขณะที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของคนไทยก็ตกต่ำอย่างหนัก อันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎอัยการศึก ซึ่งทำให้ไม่สามารถมีการชุมนุมเกินกว่า 5 คน เป็นอุปสรรคต่อการจัดกิจกรรมของภาคประชาสังคม และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ

Freedom House ยังกล่าวถึงบทบาทของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ว่ากลายเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ศาลถูกมองว่ามีอคติทางการเมือง และบทบาทที่ว่านี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ศาลยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจของคสช. ซึ่งขัดต่อหลักความเป็นอิสระของระบบตุลาการ ขณะที่คสช.เองก็ขยายอำนาจศาลทหารให้ครอบคลุมถึงพลเรือน ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีความมั่นคงอื่นๆ รวมถึงการขัดคำสั่งคสช. ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสอุทธรณ์ และการดำเนินคดีก็ยังทำอย่างปิดลับอีกด้วย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog